Follow us:  facebook  google 

.

About Us

พ.ค.
16

นโยบายความเป็นส่วนตัว (Privacy Policy)

     บริษัท สหมิตรเครื่องกล จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้ให้ไว้กับบริษัทฯ ผ่านช่องทางต่างๆ ที่บริษัทกำหนด บริษัทฯ จึงกำหนดนโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อให้มั่นใจเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลการเก็บรักษาข้อมูลไว้เป็นความลับรวมทั้งการเปิดเผยหรือการนำไปใช้ต้องเป็นไปด้วยความรอบคอบและคำนึงถึงความปลอดภัยของข้อมูลเป็นสำคัญ

     - นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล  

     - นโยบายความเป็นส่วนตัวสำหรับการใช้กล้องโทรทัศน์วงจรปิด

ก.ย.
09

ภาพรวมของธุรกิจ

 

บริษัท สหมิตรเครื่องกล จำกัด (มหาชน) ผู้นำเข้า และจัดจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรม วัตถุดิบ เครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2516 ด้วยทุนเริ่มแรก 80,000 บาท จากนั้นบริษัท มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องมาจนปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียน 550 ล้านบาท และมีผลิตภัณฑ์ครอบคลุมและรองรับการเติบโตของภาคการผลิตในประเทศ 5 กลุ่ม คือ

  1. ผลิตภัณฑ์เหล็กแข็งสำหรับทำแม่พิมพ์และเครื่องมือ
  2. ผลิตภัณฑ์เครื่องมือและเครื่องจักรกลโรงงาน
  3. ผลิตภัณฑ์กลุ่มกระดาษ
  4. ผลิตภัณฑ์เครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับอุตสาหกรรมไม้
  5. ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับไฟฟ้า

นอกจากนี้ บริษัทมุ่งเน้นการให้บริการก่อน และหลังการขายในลักษณะต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย

  • บริการแปรรูปเหล็กแข็งเบื้องต้น เช่น บริการตัด ปาด เจียร เจาะรู และอื่นๆ
  • บริการชุบเหล็กแข็งด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัย
  • บริการให้คำแนะนำในการเลือกใช้ การติดตั้ง และซ่อมบำรุง เครื่องจักรกลและอุปกรณ์
  • บริการตัดแปรรูปกระดาษตามความต้องการของลูกค้า
  • บริการตัดต่อแปรรูปกระดาษทรายตามขนาดที่ลูกค้าต้องการ
  • ผลิตใบมีดที่ใช้ในอุตสาหกรรมไม้และอุตสาหกรรมกระดาษโดยได้รับ ความร่วมมือทางด้าน การถ่ายโอนเทคโนโลยีการผลิต จาก บริษัท โตโยไนฟ์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น

ประวัติความเป็นมา และพัฒนาการที่สำคัญของบริษัท

2516 ก่อตั้งบริษัทด้วยทุนจดทะเบียน 80,000 บาท เพื่อจำหน่ายวัตถุดิบ เครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม
2533 ก่อสร้างคลังสินค้าสาธุประดิษฐ์ 1 กรุงเทพฯ
2536 ก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ
2537 แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 140 ล้านบาท
2538 เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 160 ล้านบาท และซื้อที่ดินที่อำเภอบางปะกง เพื่อก่อสร้างคลังสินค้า และศูนย์บริการตัดเหล็ก
ก่อสร้างคลังสินค้าสาธุประดิษฐ์ 2 กรุงเทพฯ เพื่อใช้เป็นคลังสินค้าเหล็ก
2542 ก่อสร้างคลังสินค้า 1 และ 2 ที่อำเภอบางปะกง เพื่อดำเนินการตัดเหล็ก และใช้เป็นคลังสินค้าของเหล็กและกระดาษ
2543 ซื้อคลังสินค้าสาธุประดิษฐ์ 3 ที่กรุงเทพฯ เพื่อใช้เป็นคลังสินค้ากระดาษ
2545 ก่อสร้างคลังสินค้าที่ 3 ที่อำเภอบางปะกง เพื่อใช้เป็นโรงงานตัดต่อ กระดาษทราย
2547 เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 550 ล้านบาท
2548 จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเปิดซื้อขายหลักทรัพย์ เมื่อวันที่18 พฤษภาคม 2548
2549 เปิดโรงงานชุบเหล็กแข็งที่อำเภอบางปะกง เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2549 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธี
2550 ก่อสร้างโรงงานผลิตใบมีดที่ใช้ในอุตสาหกรรมไม้ที่อำเภอบางปะกง โดยได้รับความร่วมมือทางด้านการถ่ายโอนเทคโนโลยีการผลิตจาก บริษัท โตโยไนฟ์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น และ ขยายกำลังการให้บริการชุบเหล็กแข็ง
2551 ก่อสร้างคลังสินค้าที่ 4 ที่อำเภอบางปะกง เพื่อใช้เป็นคลังสินค้าเหล็ก และ ก่อสร้างส่วนต่อขยายคลังสินค้าสาธุประดิษฐ์เพื่อใช้ประกอบอุปกรณ์เกี่ยวกับไฟฟ้า
2553 ก่อสร้างคลังสินค้าที่ 5 ที่อำเภอบางปะกง เพื่อใช้เป็นคลังสินค้าเหล็ก และรองรับการขยายกำลังการผลิตโรงงานผลิตใบมีด ที่ใช้ในอุตสาหกรรมไม้ และกำลังการให้บริการชุบเหล็กแข็ง
2557 ลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่ม เพื่อขยายกำลังการให้บริการการแปรรูปเบื้องต้นเหล็ก และ ขยายกำลังการให้บริการชุบเหล็กแข็ง
2558 ก่อสร้างคลังสินค้าสาธุประดิษฐ์ 4 ที่กรุงเทพฯ เพื่อใช้เป็นคลังสินค้าเหล็ก
2560 ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 100 บริษัทจดทะเบียนที่มีความโดดเด่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือ ESG100 จากสถาบันไทยพัฒน์ ประจำปี พ.ศ. 2560
  ได้รับใบรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฎิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption : CAC) โดย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
  ลงทุนซื้อที่ดินเพิ่มเติม 20 ไร่ 69 ตารางวา ที่อำเภอบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับการขยายโรงงานและคลังสินค้า
2561 ลงทุนติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่มเพื่อรองรับการให้บริการชุบเหล็กแข็งและถมที่ดิน
ก.พ.
05

เป้าหมายการดำเนินธุรกิจ


บริษัทมีเป้าหมายการดำเนินธุรกิจที่ยึดมั่นมาโดยตลอด คือ “เป็นผู้นำในการนำเข้า จัดจำหน่ายและบริการอย่างครบวงจรของ วัตถุดิบเหล็กแข็ง เครื่องจักร เครื่องมืออุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์กระดาษ เครื่องจักรและอุปกรณ์อุตสาหกรรมไม้ อุปกรณ์ไฟฟ้า และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมหลักในประเทศไทย”

วิสัยทัศน์:
“มุ่งมั่นเป็นผู้นำอย่างครบวงจรด้วยสินค้าและบริการในกลุ่มธุรกิจเหล็กแข็ง เครื่องจักรกลโรงงานและอุปกรณ์ เครื่องจักรและวัสดุอุตสาหกรรมไม้ กระดาษ และไฟฟ้า”

พันธกิจ:
• คัดสรรสินค้าและบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล (World Class Standard & State of the Art Tech)
• พัฒนาศักยภาพขององค์กรและความเชี่ยวชาญให้กับบุคคลากรอย่างไม่หยุดยั้ง (Continuous Development)
• สร้างสินค้าและบริการอย่างครบวงจร (One Stop Service / Integrated Solution)
• รักษาสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า คู่ค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้นและสังคมด้วยหลักธรรมาภิบาล (Stakeholder Relationship)

กลยุทธ์ของบริษัท
ภายใต้เป้าหมายดังกล่าวบริษัทได้ดำเนินกลยุทธ์เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับกิจการจากฐานธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายเหล็กแข็งอุตสาหกรรม เครื่องจักร และอุปกรณ์อุตสาหกรรมของบริษัท ดังต่อไปนี้

• รักษาคุณภาพของสินค้าและบริการของบริษัท (Top quality Product and Service)
• พัฒนาความเชี่ยวชาญในตัวผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง (Professional)
• เพิ่มผลิตภัณฑ์และบริการให้ครบวงจร (One Stop Services)
• ลูกค้าและผู้จัดจำหน่ายสินค้า ถือเป็นหุ้นส่วนทางการค้าของบริษัท (Partnership)

การฝึกอบรมและการพัฒนาบุคลากร
      เพื่อดำรงไว้ซึ่งเป้าหมายในการ พัฒนาความเชี่ยวชาญในตัวผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง บริษัทมีการจัดอบรม และสัมมนาพนักงาน อย่างสม่ำเสมอในหัวข้อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทเล็งเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นปัจจัยหลักประการหนึ่งที่จะส่งเสริมให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด และให้พนักงานมีศักยภาพในการปฏิบัติงาน มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างมีคุณภาพ จึงได้กำหนดนโยบายพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนงานเทคนิค (Technical) และสายงานวิชาชีพ (Professional) เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ตลอดจนเทคนิคการทำงานให้ทันสมัย โดยมีการจัดการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มความรู้และทักษะเฉพาะทางตามลักษณะงานของแต่ละสายงาน และจัดส่งพนักงานไปฝึกอบรมกับผู้เชี่ยวชาญของผู้จัดจำหน่ายสินค้าให้บริษัท (Supplier) ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเป็นการฝึกอบรมและสัมมนาทั้งในและนอกสถานที่ โดยในปี 2560 บริษัทได้จัดอบรมสัมมนาเพื่อเพิ่มความรู้และทักษะที่สำคัญ เช่น เทคโนโลยีเครื่องมือตัดและสาธิตเครื่องมือตัด CNC Machining Center, SECO,Cutting Tools Technology เทคโนโลยีกังหันลมผลิตไฟฟ้า เป็นต้น
      บริษัทมีการวางแผนการอบรมและสนับสนุนในเรื่องงบประมาณอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการสื่อสารเพื่อถ่ายทอดและบริหารความรู้ (Knowledge Management) ร่วมกันระหว่างพนักงานในองค์กร
      นอกจากนี้ บริษัทมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงานและบุคลากร มีการพัฒนาพนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน โดยมีการจัดอบรมเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยและการปฏิบัติตนในโรงงานอย่างต่อเนื่อง

ก.พ.
05

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

ลำดับ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จำนวนหุ้น (หุ้น) %หุ้น
1  นาย ชัยศิลป์ แต้มศิริชัย 43,469,346  8.20
2  นาย ประสงค์ ศรีธรรัตน์กุล 42,878,936  8.09
3  น.ส. ปรางทิพย์ ศิวรักษ์ 34,640,000  6.54
4  น.ส. ศศิรัตน์ ศิวรักษ์ 30,040,900  5.67
5  น.ส. ปิยะมล ศรีธรรัตน์กุล 28,617,400  5.40
6  น.ส. ปิยพร ศรีธรรัตน์กุล  25,458,900  4.80
7  น.ส. ณัฐพร แต้มศิริชัย  21,940,400  4.14
8  นาง สุวรรณา ศิวรักษ์  17,883,072  3.37
9  น.ส. ปิยะนุช แต้มศิริชัย  15,410,100  2.91
10  นาย ชาตรี โสภณพนิช  14,400,000  2.72

 

ก.พ.
05

การกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance: CG)

    บริษัท สหมิตรเครื่องกล จำกัด (มหาชน) มีนโยบายและการดำเนินงานตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามแนวทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้น บริษัทมีการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ มีความเท่าเทียมและเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ตามแนวทางปฏิบัติที่สำคัญสรุปได้ดังนี้

สิทธิของผู้ถือหุ้นและการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน 

  1. บริษัทมีการให้ข้อมูล วัน เวลา สถานที่ และวาระการประชุม ตลอดจนข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องตัดสินใจในที่ประชุมแก่ ผู้ถือหุ้นเป็นการล่วงหน้า โดยได้ส่งหนังสือนัดเชิญประชุม และเอกสารประกอบ ให้ผู้ถือหุ้นได้พิจารณาเป็นการล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน และในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 บริษัทมีการเผยแพร่ข้อมูลประกอบการประชุมล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์ของบริษัท โดยข้อมูลจะเหมือนกับข้อมูลที่บริษัทจะจัดส่งให้ผู้ถือหุ้นในรูปแบบเอกสารหนังสือเชิญประชุมไว้ในเว็บไซต์ของบริษัท เพื่อเปิดโอกาส ให้ผู้ถือหุ้นได้มีเวลาศึกษาข้อมูลก่อนได้รับข้อมูลในรูปแบบเอกสาร
  2. ผู้ถือหุ้นสามารถดาวน์โหลดข้อมูลต่างๆ ของบริษัทได้ที่ www.sahamit.co.th ซึ่งจะมีข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลของบริษัทต่างๆ รวมถึง ข้อมูล ของการประชุม ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้ผู้ถือหุ้นและผู้ที่สนใจศึกษาสารสนเทศของบริษัทได้ อีกทั้งยังสามารถสอบถามข้อมูล เพิ่มเติมได้ผ่านแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ทาง Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
  3. ในหนังสือเชิญประชุม บริษัทแจ้งกฎเกณฑ์และวิธีการในการเข้าร่วมประชุมให้ผู้ถือหุ้นทราบ และในกรณีที่ผู้ถือหุ้นไม่สามารถเข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง บริษัทเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะให้กรรมการอิสระ กรรมการบริษัท หรือบุคคลใดๆ เข้าร่วมประชุมแทนตนได้โดยใช้หนังสือมอบฉันทะที่ได้จัดส่งไปพร้อมกับหนังสือนัดประชุม และผู้ถือหุ้นยังสามารถดาวน์โหลดหนังสือมอบฉันทะผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้ให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นที่เข้าประชุมภายหลังจากได้เริ่มประชุมแล้ว มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนสำหรับวาระที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาและยังไม่ได้มีการลงมติ และนับเป็นองค์ประชุมตั้งแต่วาระที่ได้เข้าประชุมและออกเสียงเป็นต้นไป เว้นแต่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นจะมีความเห็นเป็นอย่างอื่น
  4. บริษัทจัดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2561 โดยมีกรรมการบริษัท13 คนเข้าร่วมประชุม (กรรมการทั้งหมดมีจำนวน 15) มีการเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นซักถามข้อสงสัยต่างๆ จากกรรมการบริษัท ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายที่จะไม่มีการริดรอนสิทธิของผู้ถือหุ้นในการรับรู้สารสนเทศของบริษัท เช่น ไม่มีการแจกเอกสารที่มีข้อมูลสำคัญ เพิ่มเติมอย่าง กะทันหัน ไม่เพิ่มวาระการประชุมหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลสำคัญ ไม่จำกัดสิทธิในการเข้าประชุมของผู้ถือหุ้นที่มาสาย เป็นต้น
  5. บริษัทเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถเสนอวาระการประชุมเป็นการล่วงหน้า พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เช่น ต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่า 500,000 หุ้น และต้องถือหุ้นต่อเนื่องมาเป็นเวลา 1 ปี และต้องมีรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทอยู่ในวันที่เสนอวาระการประชุม โดยคณะกรรมการบริษัทจะเป็นผู้พิจารณากลั่นกรองข้อเสนอของผู้ถือหุ้น วาระใดที่เห็นว่าสำคัญและเป็นประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นโดยรวม คณะกรรมการบริษัทจะบรรจุเป็นวาระการประชุม โดยจะแจ้งในหนังสือนัดประชุมว่าเป็นวาระที่กำหนดโดยผู้ถือหุ้น หรือนำไปชี้แจงในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ซึ่งในปี 2561 ไม่มีผู้ใดเสนอวาระการประชุมเป็นการเพิ่มเติม นอกจากนี้ ในปี 2562 บริษัทเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเสนอวาระการประชุมและเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการล่วงหน้า และส่งคำถามที่เกี่ยวข้องกับวาระการประชุมถึงคณะกรรมการล่วงหน้าก่อนวันประชุม ผ่านทาง This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. อีกด้วย
  6. ในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 ประธานกรรมการได้แจ้งกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการประชุม วิธีการออกเสียงลงมติให้ผู้ถือหุ้นทราบ และมีการเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นแสดงความคิดเห็นและซักถามได้ซึ่งมีผู้สนใจซักถามเรื่องเกี่ยวกับงบการเงินและการดำเนินงานของบริษัท ส่วนในวาระแต่งตั้งกรรมการ คณะกรรมการได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเลือกกรรมการเป็นรายคน มีการใช้บัตรลงคะแนนให้ผู้ถือหุ้น กรอกในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับวาระ และมีการถ่ายวีดิทัศน์บันทึกภาพและเสียงการประชุม
  7. รายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 มีการแสดงรายชื่อกรรมการที่เข้า / ไม่เข้าร่วมประชุม ซึ่งมีกรรมการเข้าร่วมประชุมครบ มีคำชี้แจงที่เป็นสาระสำคัญ มีคำถามและคำตอบหรือข้อคิดเห็นโดยสรุป วิธีลงคะแนนและวิธีนับคะแนน และแสดงมติที่ประชุมที่เป็นคะแนนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียง ของทุกวาระการประชุมและเผยแพร่รายงานการประชุมผ่านทางเว็บไซต์ภายใน 14 วัน
  8. บริษัทมีมาตรการป้องกันกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานใช้ข้อมูลภายในเพื่อหาผลประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นในทางมิชอบ (แสดง รายละเอียดในหัวข้อ เรื่องการดูแลเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน)
  9. บริษัทกำหนดเกณฑ์ข้อบังคับของบริษัทว่ากรรมการบริษัทจะประกอบกิจการ หรือเข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญหรือหุ้นส่วน ไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเป็นกรรมการของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดอื่นที่ประกอบกิจการอันมีสภาพ อย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของบริษัทไม่ได้ เว้นแต่จะแจ้งให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นทราบก่อนที่จะมีมติแต่งตั้ง และ กรรมการต้องแจ้งให้บริษัททราบโดยไม่ชักช้าหากมีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในสัญญาใดๆ ที่บริษัททำขึ้นในระหว่างรอบปีบัญชี โดยบริษัทส่งเสริมให้มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนได้เสียของกรรมการ ผู้บริหาร และผู้เกี่ยวข้องต่อคณะกรรมการ ผ่านวาระการประชุมของคณะกรรมการบริษัท นอกจากนี้ในกรณีที่มีการพิจารณาวาระที่มีส่วนได้เสียของกรรมการอยู่ กรรมการหรือผู้บริหารที่มีส่วนได้เสียหรือมีส่วนเกี่ยวข้องไม่มีสิทธิในการออกเสียงในวาระดังกล่าว

บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย
    คณะกรรมการบริษัทได้ดำเนินนโยบายและกำกับดูแลธุรกิจของบริษัท ด้วยความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายเพื่อประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยมีคู่มือจริยธรรมธุรกิจของบริษัท ที่ใช้เป็นหลักในการปฏิบัติงาน ซึ่งประกอบด้วยนโยบายและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับจริยธรรมในการทำธุรกิจเพื่อให้เกิดความเข้าใจและยึดถือในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อความสำเร็จของบริษัท โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบใน 4 ประเด็นหลัก ดังนี้คือ การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน มาตรฐานการจ้างงาน การรักษาสิ่งแวดล้อม และการต่อต้านคอรัปชั่น

สิทธิของผู้ถือหุ้น :ตามที่ได้กล่าวไว้ในหัวข้อ “สิทธิของผู้ถือหุ้นและการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน”

สิทธิของพนักงาน :พนักงานเป็นปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จของการบรรลุเป้าหมายของบริษัท จึงเป็นนโยบายของบริษัทที่จะให้การปฎิบัติที่เป็นธรรมในด้านโอกาส ผลตอบแทน การแต่งตั้ง โยกย้าย ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพ โดยยึดแนวปฏิบัติ ดังนี้

  1. ปฏิบัติต่อพนักงานด้วยความสุภาพ และให้ความเคารพต่อความเป็นปัจเจกชนและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ โดยไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้หนึ่งผู้ใดเนื่องจากความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ เพศ อายุ หรือพื้นฐานการศึกษา
  2. ให้ผลตอบแทนที่เป็นธรรมต่อพนักงาน
  3. ดูแลรักษาสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของพนักงานอยู่เสมอ
  4. การประเมินผลงาน การแต่งตั้งและโยกย้าย รวมถึงการให้รางวัลและการลงโทษพนักงานกระทำด้วยความเป็นธรรม และสุจริตใจ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ ความสามารถ และ ความเหมาะสมของพนักงาน
  5. ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพของพนักงาน โดยการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ และทั่วถึง
  6. เปิดโอกาส และรับฟัง ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ของพนักงานตามความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพของพนักงาน
  7. ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพนักงานอย่างเคร่งครัด
  8. หลีกเลี่ยงการกระทำใด ๆ ที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงในหน้าที่การงานของพนักงาน หรือคุกคามและสร้างความกดดันต่อสภาพจิตใจของพนักงาน

      นอกจากนี้ บริษัทมีนโยบายส่งเสริมการเสริมสร้างความรู้ ผ่านการอบรมทั้งภายในและภายนอกบริษัท เพื่อรองรับการเติบโตของบริษัทในอนาคต อีกทั้งบริษัทยังมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อสร้างหลักประกันให้แก่พนักงานภายในบริษัท

สิทธิของลูกค้า :บริษัทใช้ระบบการจัดการคุณภาพในระดับสากล เช่น ISO 9001:2008 และ AS9100C เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้าในด้านคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์สินค้า การส่งมอบที่ตรงเวลา และบริการในระดับโลก ตลอดจนรักษาความลับของลูกค้าโดยเคร่งครัด และกำหนดจรรยาบรรณทางธุรกิจให้สอดคล้องกัน ภายใต้ความรับผิดชอบและความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาว โดยกำหนดเป็นนโยบายและข้อปฏิบัติ ดังนี้

  1. รักษาคุณภาพของสินค้า และการให้บริการที่มีคุณภาพ ตรงตาม หรือสูงกว่าความคาดหวังของลูกค้าในราคาที่เหมาะสม
  2. ให้คำปรึกษา แนะนำ รวมทั้งช่วยลูกค้าในการแก้ปัญหา เพื่อให้การใช้สินค้า หรือ บริการของบริษัทฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์กับลูกค้าสูงสุด โดยยึดถือเสมอว่า ลูกค้าเป็นหุ้นส่วนทางการค้าของบริษัทฯ
  3. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าของบริษัทฯอย่างถูกต้อง, เพียงพอ และทันต่อเหตุการณ์แก่ลูกค้า ตามความเป็นจริง ทั้งในแง่ของคุณภาพ ปริมาณ หรือเงื่อนไขใดๆ ของสินค้า หรือ บริการนั้น ๆ
  4. ติดต่อกับลูกค้าด้วยความสุภาพ และเป็นที่วางใจได้ของลูกค้า และจัดให้มีระบบและกระบวนการที่ให้ลูกค้าร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพ ปริมาณ ความปลอดภัยของสินค้าและบริการ
  5. รักษาความลับ หรือ สารสนเทศของลูกค้า และไม่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือ ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยมิชอบ

สิทธิของคู่ค้า :การปฏิบัติต่อคู่ค้าของบริษัท ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคและเป็นธรรม โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ การเจรจาแก้ปัญหาและหาทางออกตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ทางธุรกิจ โดยมีแนวปฏิบัติดังต่อไปนี้

  1. ไม่เรียก หรือไม่รับ หรือจ่ายผลประโยชน์ใด ๆ ที่ไม่สุจริตในการค้ากับคู่ค้า หากพบว่ามี หรือ อาจจะมีการกระทำในลักษณะดังกล่าว ต้องเปิดเผยรายละเอียดต่อคู่ค้า และร่วมแก้ปัญหาโดยยุติธรรม และรวดเร็ว
  2. ปฏิบัติตามเงื่อนไขทางการค้า, เงื่อนไขการกู้ยืมเงิน หรือ เงื่อนไขอื่นๆ ตามที่ตกลงกันไว้อย่างเคร่งครัด
  3. กรณีไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้ ต้องรีบแจ้งล่วงหน้าเพื่อร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไข

สิทธิของเจ้าหนี้ :บริษัทมุ่งมันสร้างความไว้วางใจกับเจ้าหนี้ด้วยการบริหารงานอย่างมีจรรยาบรรณ และปฏิบัติตามเงื่อนไขการกู้ยืมเงิน ข้อตกลงและหน้าที่ที่พึงมีต่อเจ้าหนี้

สิทธิของสังคมและส่วนรวม :บริษัทดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่พึงมีต่อประเทศชาติ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น และยึดมั่นเป็นนโยบายที่จะดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยจากกิจกรรมของบริษัท ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม
บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมที่ดี และปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดโดยมีแนวปฏิบัติดังนี้

  1. ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม
  2. สร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน และการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของพนักงานอยู่เสมอ
  3. เอาใจใส่ และให้ความร่วมมือต่อกิจกรรมทั้งปวงที่จะเสริมสร้างคุณภาพ อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม

     บริษัทมีแนวทางในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม ตามหลักบรรษัทภิบาลที่ดี ยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยบริษัทได้จัดทำนโยบายการแจ้งเบาะแส (Whistle Blowing Policy) ขึ้น เพื่อเป็นช่องทางให้กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มสามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสในกรณีที่เกิดการทุจริต ฉ้อโกงในสาระที่สำคัญ และกระทบต่อความรู้สึก เช่น การกระทำที่ผิดกฎหมาย ผิดกฎข้อบังคับ ผิดไปจากนโยบายของบริษัท และผิดต่อจริยธรรมทางธุรกิจ เพื่อช่วยกันปรับปรุงแก้ไขหรือดำเนินการให้เกิดความถูกต้อง เหมาะสม โปร่งใส และยุติธรรมต่อไป ทั้งนี้ ข้อมูลขอผู้แจ้งเบาะแสและเรื่องที่แจ้ง จะถูกเก็บเป็นความลับ เพื่อป้องกันกรณีถูกละเมิดสิทธิ บริษัทจัดช่องทางติดต่อกับบริษัทได้ โดยผ่านกรรมการตรวจสอบของบริษัท ทาง Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. หรือทางโทรสารไปยังฝ่ายตรวจสอบภายในที่หมายเลข (0) 2295 1020
     ในปีที่ผ่านมา บริษัทไม่ได้รับแจ้งเบาะแส การกระทำความผิดแต่อย่างใด ทั้งนี้ บริษัทได้กำหนดรายละเอียดเหล่านี้ไว้ในนโยบายกำรกำกับดูแลกิจการว่าด้วยการให้ข้อมูลการกระทำผิดและ การทุจริตและจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ

การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส
บริษัทได้คำนึงถึงการได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา โปร่งใส การเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เท่าเทียมกันและความน่าเชื่อถือ โดยบริษัท ได้ดำเนินการ

  1. เปิดเผยข้อมูลแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และรายงานประจำปีให้ผู้ลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลของบริษัทเพิ่มเติมได้จาก www.sec.or.th หรือ เว็บไซต์ของบริษัท www.sahamit.co.th
  2.  ในรอบปีที่ผ่านมา บริษัทมิได้ถูกสำนักงาน ก.ล.ต. หรือตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินการเนื่องมาจากการเปิดเผยข้อมูลไม่เป็นไปตามข้อกำหนด
  3.  ในรายงานประจำปี 2561 บริษัทเปิดเผยข้อมูลอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ และคณะกรรมการตรวจสอบ นโยบาย การจ่ายค่าตอบแทนกรรมการ นโยบายการกำกับดูแลโดยสรุป นโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสังคม การปฏิบัติตาม นโยบายที่กำหนด และจรรยาบรรณธุรกิจ
  4.  จัดให้มีรายงานความรับผิดชอบของคณะกรรมการต่อรายงานทางการเงินแสดงควบคู่ไปกับรายงานของผู้สอบบัญชีในรายงานประจำปี ซึ่งมีเนื้อหารับรองการปฏิบัติตามหลักการบัญชี และมีการรายงานทางการเงินที่มีข้อมูลถูกต้องครบถ้วนเป็นจริงตามมาตรฐานการบัญชี โดยรายงานดังกล่าวลงนามโดยประธานกรรมการ
  5.  ข้อมูลในเว็บไซต์ของบริษัทประกอบด้วย ข้อมูลองค์กร โครงสร้างการถือหุ้น โครงสร้างคณะกรรมการ วิสัยทัศน์ / ภารกิจธุรกิจ และ ผลิตภัณฑ์ นโยบายการกำกับดูแลกิจการและผลการปฏิบัติตามนโยบายที่กำหนด จรรยาบรรณธุรกิจ ข้อมูลนักลงทุน รายงานประจำปี งบการเงิน และข่าวสารที่บริษัทเผยแพร่ โดยมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
  6. บริษัทตระหนักถึงความสำคัญในการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศแก่ผู้ลงทุนเพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง โปร่งใสและทั่วถึง บริษัทจึงจัดให้มีแผนกนักลงทุนสัมพันธ์เพื่อรับผิดชอบติดต่อประสานงานกับผู้ลงทุนและผู้ถือหุ้น โดยสามารถติดต่อได้ที่ Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. หรือ ติดต่อที่ คุณปรางทิพย์ ศิวรักษ์ โทรศัพท์ 66 (0) 2295 1000-8 ต่อ 1515

ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

  1. โครงสร้างของคณะกรรมการบริษัท ประกอบด้วยกรรมการทั้งสิ้น 15 คน ซึ่งเป็นโครงสร้างกรรมการที่เหมาะสมกับขนาดของกิจการ ในคณะกรรมการบริษัทมีกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบจำนวน 5 คน หรือคิด 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด ทำให้สามารถถ่วงดุลในการพิจารณาวาระการประชุมต่างๆ ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทประกอบด้วยบุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถหลากหลายด้าน เช่น ความรู้ความเชี่ยวชาญ เรื่องบัญชี การเงิน การปกครอง การค้าระหว่างประเทศ การผลิต การจัดซื้อ และตรวจสอบภายใน เป็นต้น รายละเอียดประวัติ คุณวุฒิ ประสบการณ์ การถือหุ้น แสดงในข้อมูลเอกสาร 56-1
  2. บริษัทมีบุคคลที่ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ซึ่งไม่เป็นบุคคลเดียวกับกรรมการผู้จัดการ โดยมีการระบุและแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการ กับกรรมการผู้จัดการไว้อย่างชัดเจน และบริษัทยังมีคณะกรรมการบริหารซึ่งประกอบด้วยกรรมการ 7 ท่าน ซึ่งมีการถ่วงดุลกันอย่างเหมาะสมจากตัวแทนผู้ถือหุ้นกลุ่มอื่น นอกจากนั้นการตัดสินใจและทำรายการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจทั่วไปของบริษัทนั้นจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริษัท ซึ่งมีกรรมการตรวจสอบจำนวน 4 ท่านเข้าร่วมพิจารณาด้วย
  3. คณะกรรมการตรวจสอบ ประกอบด้วยกรรมการบริษัทที่เป็นกรรมการอิสระ จำนวน 4 คน เป็นผู้มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรรมการตรวจสอบ 1 คน คือ นายประยูร วิเวชภูวนนท์ เป็นผู้มีความรู้ ความเข้าใจ มีประสบการณ์ด้านบัญชีและการเงิน และงานตรวจสอบภายในเป็นอย่างดี ในปี 2561 คณะกรรมการตรวจสอบมีการประชุม 5 ครั้ง มีการรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการรายงานการทำหน้าที่ในรอบปีที่ผ่านมา
  4. คณะกรรมการบริษัทมิได้จัดให้มีกรรมการย่อย คือ คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง เนื่องจากคณะกรรมการบริษัทพิจารณาแล้วเห็นว่า ด้วยขนาดกิจการและโครงสร้างองค์กรในปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการย่อยดังกล่าว อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริษัท (ประกอบด้วยกรรมการอิสระจำนวน 5 คน หรือ คิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด) ได้ทำหน้าที่ในกำหนดค่าตอบแทนที่เหมาะสมแก่กรรมการบริษัทและผู้บริหารอย่างชัดเจนและโปร่งใส โดยจะพิจารณาเปรียบเทียบกับการจ่ายค่าตอบแทนของกรรมการกับบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน ตลอดจนผลการดำเนินงานของบริษัท และมีการเสนอขออนุมัติที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อจ่ายค่าตอบแทนให้แก่คณะกรรมการบริษัท ส่วนค่าตอบแทนผู้บริหาร คณะกรรมการบริหารเป็นผู้พิจารณาจากหน้าที่ความรับผิดชอบ ความรู้ ความสามารถ และผลการปฏิบัติงานของแต่ละคน ซึ่งวิธีการจ่ายค่าตอบแทนที่บริษัทปฏิบัติอยู่นี้สอดคล้องกับผลการปฏิบัติงานของพนักงาน และสะท้อนถึงผลการดำเนินงานอย่างแท้จริง ส่วนการบริหารความเสี่ยงคณะกรรมการบริษัท (ประกอบด้วยกรรมการอิสระจำนวน 5 คน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด) ได้ทำหน้าที่ประเมินและติดตามความเสี่ยงโดยรวมซึ่งครอบคลุมความเสี่ยงที่สำคัญของบริษัท เช่น ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้า ความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงจากลูกหนี้การค้า เป็นต้น พร้อมทั้งกำหนดนโยบายและกลยุทธ์บริหารความเสี่ยงเพื่อดูแลปริมาณความเสี่ยงของบริษัทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
  5. ตามข้อบังคับของบริษัท การประชุมสามัญประจำปีทุกครั้ง กรรมการบริษัทอย่างน้อย 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมดต้องออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท โดยให้กรรมการที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดเป็นผู้ออกจากตำแหน่ง และกรรมการอาจได้รับการแต่งตั้งกลับมาดำรงตำแหน่งได้อีกตามที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นเห็นว่าเหมาะสม ดังนั้น วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการจะอยู่ที่ประมาณ 3 ปี
  6. คณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำรงตำแหน่งกรรมการที่บริษัทอื่นของกรรมการ ตามระเบียบข้อบังคับของบริษัทที่ว่ากรรมการบริษัทจะประกอบกิจการ หรือเข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญหรือหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเป็นกรรมการ ของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดอื่นที่ประกอบกิจการอันมีสภาพอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของบริษัทไม่ได้ เว้นแต่จะแจ้งให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นทราบก่อนที่จะมีมติแต่งตั้ง โดยนโยบายดังกล่าว ทางคณะกรรมการได้กำหนดให้ใช้กับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทด้วย นอกจากนี้ การดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดให้กรรมการแต่ละคนดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 5 แห่ง ซึ่งปัจจุบันไม่มีกรรมการคนใดของบริษัทมีการดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทจดทะเบียนมากกว่า 5 บริษัท
  7. บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เป็นการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการบริหาร กรรมการผู้จัดการ ไว้อย่างชัดเจน
  8. บริษัทได้กำหนด วิสัยทัศน์ ภารกิจ กลยุทธ์ เป้าหมาย แผนธุรกิจและงบประมาณของบริษัท ตลอดจนกำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนธุรกิจและงบประมาณที่กำหนดไว้ รวมทั้งจัดให้มีระบบการควบคุมภายใน การตรวจสอบภายในและการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
  9. คณะกรรมการบริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการนำมาซึ่งความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้น และเกิดความเป็นธรรมแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย โดยคณะกรรมการบริษัทได้ประกาศใช้คู่มือบรรษัทภิบาลเพื่อเป็นคู่มือในการกำกับดูแลกิจการของบริษัทให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ข้างต้น และมีการสื่อสาร ส่งเสริมให้บุคลากรของบริษัทเข้าใจและปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว 
  10. คณะกรรมการบริษัทได้ให้ความเห็นชอบในคู่มือจริยธรรมธุรกิจและข้อพึงปฏิบัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรแก่กรรมการและพนักงาน เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ ซึ่งครอบคลุมหัวข้อต่างๆ ที่สำคัญ เช่น ความซื่อสัตย์ คุณธรรม ความขัดแย้งทางผลประโยชน์และการปฏิบัติ ตามข้อกฎหมายต่างๆ รวมทั้งยังได้มีบทกำหนดโทษทางวินัยอีกด้วย โดยในแต่ละปีสายงานตรวจสอบภายในและทรัพยากรบุคคล จะประเมินเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข
  11. การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ คณะกรรมการได้ดูแลอย่างรอบคอบเมื่อเกิดรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการตรวจสอบ ในหัวข้อที่เป็นรายการระหว่างกัน ตามข้อกำหนด และวิธีการของตลาดหลักทรัพย์ ในเรื่องที่เกี่ยวกับรายการที่เกี่ยวข้องกัน นอกจากนี้ยังมีการกำหนดไม่ให้ผู้มีส่วนได้เสียในรายการที่จะทำไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และมีการเปิดเผยข้อมูลถูกต้องและครบถ้วนในรายงานประจำปีและแบบ 56-1
  12. บริษัทมีหน่วยงานตรวจสอบภายในเพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์ ตรวจสอบประเมินผลให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจการต่างๆ ของบริษัทและมี คณะกรรมการตรวจสอบเพื่อทำหน้าที่สอบทานให้บริษัท มีระบบการควบคุมภายใน (Internal Control) และการตรวจสอบภายใน (Internal Audit) ที่เหมาะสมและมีประสิทธิผล หน่วยงานดังกล่าวมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ขึ้นตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ มีการทบทวนความเหมาะสมและความเพียงพอของระบบปีละ 1 ครั้ง และคณะกรรมการตรวจสอบมีการให้ความเห็นเรื่องความเพียงพอของระบบควบคุมภายในไว้ในรายงานประจำปี
  13. การประชุมคณะกรรมการ บริษัทได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการและมีการกำหนดตารางการประชุมไว้ล่วงหน้าตลอดทั้งปี และแจ้งให้คณะกรรมการทราบตั้งแต่ต้นปีเพื่อวางแผนเข้าร่วมประชุม ซึ่งจะกำหนดให้มีการประชุม อย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง (ในทุกๆ 3 เดือน) และมีการประชุมอีก 1 ครั้ง 1 เดือนก่อนวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี โดยกรรมการทุกคนควรเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการอย่างน้อยร้อยละ 75 ของการประชุมทั้งปี นอกจากนั้นหากมีวาระที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ บริษัทจะจัดให้มีการประชุมระหว่างกาลอย่างเร่งด่วนตามความเหมาะสม ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ และเลขานุการบริษัท ร่วมกันพิจารณาการเลือกเรื่องเข้าวาระการประชุมคณะกรรมการ โดยดูให้แน่ใจว่าเรื่องที่สำคัญได้นำเข้ารวมไว้แล้ว และกรรมการแต่ละคนมีความเป็นอิสระที่จะเสนอเรื่องเข้าสู่วาระการประชุม เลขานุการบริษัทมีการจัดส่งเอกสารประกอบการประชุมให้แก่กรรมการเป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน ประธานกรรมการจัดสรรเวลาไว้อย่างเพียงพอที่ฝ่ายจัดการจะเสนอเรื่องและมากพอที่กรรมการจะอภิปรายปัญหา
  14. รายงานการประชุมของคณะกรรมการบริษัท จะประกอบด้วยสาระสำคัญ เช่น วันเวลาเริ่ม เวลาเลิกประชุม รายชื่อกรรมการที่เข้าประชุมและขาดประชุม สรุปสาระสำคัญของเรื่องที่เสนอ สรุปประเด็นการอภิปรายและข้อสังเกต มติคณะกรรมการและความเห็นของกรรมการที่ไม่เห็นด้วย ชื่อผู้จดรายงานและชื่อผู้รับรองรายงาน บริษัทได้มีการจัดเก็บรายงานการประชุมของคณะกรรมการบริษัทเป็นรูปเล่ม สามารถสืบค้นง่ายแต่แก้ไขไม่ได้ มีการบันทึกและเปิดเผยจำนวนครั้งการเข้าประชุมคณะกรรมการ 
  15. คณะกรรมการได้มีมติแต่งตั้ง นางสาวณัฐพร แต้มศิริชัย เป็นเลขานุการบริษัท เพื่อทำหน้าที่จัดการประชุมคณะกรรมการบริษัทคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ และการประชุมผู้ถือหุ้น รวมทั้งจัดทำรายงานการประชุมคณะกรรมการ รายงานการประชุมผู้ถือหุ้น รายงานประจำปี ตลอดจนจัดเก็บเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด

การกำกับดูแลเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน
       บริษัทมีนโยบายห้ามกรรมการและผู้บริหารใช้ข้อมูลภายในที่มีสาระสำคัญของบริษัท ซึ่งยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนเพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือผู้อื่น รวมถึงการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท โดยมีวิธีการดูแลผู้บริหารในการนำข้อมูลภายในของบริษัทไปใช้ประโยชน์เพื่อส่วนตนหรือ ผู้อื่น ดังนี้

  1. ดำเนินการแจ้งให้ผู้บริหารฝ่ายต่างๆ เข้าใจถึงภาระหน้าที่ในการรายงานการถือหลักทรัพย์ในบริษัทของตนเอง คู่สมรส และบุตรที่ยัง ไม่บรรลุนิติภาวะ ตลอดจนรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ตามมาตรา 59 และบทกำหนดโทษตามมาตรา 275 แห่ง พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
  2. ดำเนินการส่งหนังสือเวียนแจ้งให้ผู้บริหารทราบว่า ผู้บริหารที่รับทราบข้อมูลภายในที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์ ควรหลีกเลี่ยงหรืองดการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทในช่วงระยะเวลา 1 เดือน (ยกเว้นในกรณีจำเป็น) และห้ามเปิดเผยข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญนั้นต่อบุคคลอื่น ก่อนที่งบการเงินหรือข้อมูลภายในนั้นจะเปิดเผยต่อสาธารณชน
  3. ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ กรรมการบริษัทและผู้บริหารระดับสูงจะต้องแจ้งให้แก่คณะกรรมการทราบ ในวาระเรื่อง รายงานการถือหลักทรัพย์
  4. ข้อมูลภายในหรือเอกสารที่มีสาระสำคัญของบริษัท ทั้งในรูปแบบเอกสารและ Soft File จะถูกเก็บรักษาไว้ในที่รัดกุมและจำกัดให้รับรู้ ได้เฉพาะผู้บริหารระดับสูงตามความจำเป็นเท่านั้น โดยเฉพาะข้อมูลภายในที่เป็นความลับ ในกรณีที่จำเป็นต้องเปิดเผยต่อพนักงาน บริษัท บริษัทจะให้พนักงานทราบถึงข้อจำกัดในการนำข้อมูลไปใช้อย่างถูกต้อง ในกรณีที่พนักงานนำข้อมูลที่เป็นความลับของบริษัท ไปเปิดเผยต่อบุคคลภายนอก จะถือว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
  5. การติดตามผลการปฏิบัติงาน จะดำเนินการสุ่มตรวจกรณีที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ผิดปกติ รวมถึงการตรวจสอบผ่านระบบสารสนเทศ ของบริษัทและข่าวสารจากภายนอก

การควบคุมภายใน
คณะกรรมการบริษัท ให้ความสำคัญต่อการควบคุมภายในอย่างต่อเนื่อง โดยจัดให้มีระบบควบคุมภายในที่มีประสิทธิผล ซึ่งเป็นกลไกที่สร้างความมั่นใจต่อฝ่ายบริหาร ในการช่วยลดความเสี่ยงทางธุรกิจ ช่วยให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสม บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ รวมถึงช่วยปกป้องทรัพย์สินไม่ให้รั่วไหล สูญหาย หรือจากการทุจริต ซึ่งจะส่งผลให้รายงานทางการเงินมีความครบถ้วน ถูกต้อง เชื่อถือได้ โดยมีหน่วยงานตรวจสอบภายใน ซึ่งมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการตรวจสอบ ทำหน้าที่สอบทานการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ ภายในบริษัท ตามแผนการตรวจสอบ ซึ่งใช้การประเมินความเสี่ยง เพื่อลำดับความสำคัญในจุดที่เข้าตรวจสอบ ควบคู่กับการให้คำปรึกษา และพัฒนาระบบการควบคุมภายในให้มีความรัดกุม และมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น
ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2561 ซึ่งมีคณะกรรมการตรวจสอบเข้าร่วมประชุมด้วย คณะกรรมการบริษัทได้ประเมินระบบการควบคุมภายในของบริษัท จากการสอบทานการประเมินความเพียงพอของระบบควบคุมภายใน ตามแนวทางที่กำหนดโดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และจากการซักถามข้อมูลจากฝ่ายบริหาร และฝ่ายตรวจสอบภายใน คณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัท มีความเห็นว่าบริษัทฯ มีการควบคุมภายในที่เหมาะสม รัดกุม และเพียงพอในทุกด้าน สอดคล้องกับความเห็นของผู้สอบบัญชี ที่ให้ความเห็นว่าไม่พบจุดอ่อน หรือข้อบกพร่องของระบบควบคุมภายใน ที่จะกระทบอย่างเป็นสาระสำคัญต่อความถูกต้องของงบการเงิน หรือการบรรลุเป้าหมายขององค์กร

การบริหารจัดการความเสี่ยง
    การบริหารความเสี่ยง ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการ และกำกับดูแลการดำเนินงานในกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัท ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล บรรลุตามวัตถุประสงค์ของบริษัท เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
    การบริหารความเสี่ยง จึงเป็นความท้าทายของบริษัทที่จะต้องรักษาความสมดุลระหว่างความเสี่ยงและผลของความสำเร็จที่จะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่บริษัทโดยไม่ก่อให้เกิดภยันตราย ซึ่งหมายความว่า องค์กรต้องมีความเข้าใจถึงความเสี่ยงของธุรกิจตนเอง มีการกำหนดระดับความเสี่ยงที่บริษัทยอมรับได้ และต้องมีความมั่นใจว่าความเสี่ยงเหล่านั้นได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม
    ดังนั้น คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง จึงจัดตั้งคณะทำงานบริหารความเสี่ยงในปี 2558 และได้จัดทำคู่มือบริหารความเสี่ยง แผนบริหารความเสี่ยง ที่ได้รวบรวมความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้น ผลกระทบ พร้อมทั้งระดับความเสี่ยงในขณะนั้น ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ รวมถึงการจัดการความเสี่ยงที่ฝ่ายบริหารใช้กำกับดูแลและประกอบการดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจในแต่ละด้าน เพื่อสื่อสารการบริหารความเสี่ยงกับทุกหน่วยงานให้รับทราบ และนำแผนไปปฏิบัติ รวมทั้งติดตามผล เพื่อปรับปรุงแผนบริหารความเสี่ยงให้เหมาะสม และสอดคล้องกับการดำเนินงานในทุกกิจกรรมของบริษัท
    ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงต้องประเมินผลการปฏิบัติงาน และรายงานผลการประเมินความเสี่ยงประจำปีต่อคณะกรรมการบริษัทรับทราบ เพื่อนำผลการประเมินความเสี่ยงประจำปีมาปรับปรุงกระบวนการบริหารความเสี่ยงให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
 กระบวนการบริหารความเสี่ยง มีขั้นตอนดังนี้
 1. การกำหนดวัตถุประสงค์ เพื่อให้มีทิศทาง และเป้าหมายชัดเจน
   2. การระบุความเสี่ยง ความเสี่ยงที่สำคัญของบริษัทแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
       2.1 ความเสี่ยงด้านการเงิน
       2.2 ความเสี่ยงด้านปฏิบัติงาน
       2.3 ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ ข้อบังคับ ของภาครัฐ
       2.4 ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์
   3. การวิเคราะห์ และประเมินความเสี่ยง
       การวิเคราะห์ความเสี่ยง เพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยง และสามารถตัดสินใจเลือกวิธีจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการวิเคราะห์เชิงปริมาณ หรือการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ (จากผู้ที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงโดยตรง)
       การประเมินความเสี่ยง คือการนำความเสี่ยงที่ถูกวิเคราะห์ ไปประเมินค่าความเสี่ยง โดยวัดจากโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงนั้น (Likelihood) เทียบกับผลกระทบจากความเสี่ยง (Impact) และเข้าสู่แนวทางการวางแผนบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม
   4. การวางแผนบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อหาแนวทางจัดการความเสี่ยงที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงสำคัญๆ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นใหม่ได้ในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและเวลาที่เปลี่ยนไป
   5. การติดตามและรายงานความเสี่ยง เป็นกระบวนการสุดท้ายเพื่อรายงานความเสี่ยงจากทุกหน่วยในองค์กรอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่อง เพื่อสอบทานสถานะของความเสี่ยง และแผนบริหารจัดการความเสี่ยง ว่าแผนใดมีประสิทธิภาพดีให้คงดำเนินการต่อ และแผนใดควรปรับเปลี่ยน เมื่อพบว่าระดับความเสี่ยงที่คงเหลือสูงเกินกว่าค่าระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เพื่อการตัดสินใจที่ทันเวลาและมีประสิทธิผล

 


การกำกับดูแล 

ก.พ.
08

โครงสร้างองค์กร
 


โครงสร้างองค์กร 

มี.ค.
03

คู่มือจริยธรรมธุรกิจ

 

คู่มือจริยธรรมธุรกิจ 

มี.ค.
03

ข้อบังคับบริษัท

 

ข้อบังคับบริษัท 

ก.ค.
07

นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น

 การต่อต้านคอร์รัปชัน
       บริษัทได้ร่วมลงนามในประกาศเจตนารมณ์แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต รับทราบข้อตกลงคำประกาศเจตนารมณ์แนวร่วมปฎิบัติ (Collective Action Coalition) ของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ โดยในปี 2559 บริษัทได้จัดทำนโยบายการต่อต้านการคอร์รัปชั่น ซึ่งได้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทแล้ว เพื่อกำหนดบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ หลักเกณฑ์แนวปฏิบัติในการสอบทาน และติดตามการปฏิบัติตามนโยบาย ให้บุคลากรของบริษัท ยึดถือ และปฏิบัติตาม
       แนวปฎิบัติของบริษัท คือ การนำนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชั่นเผยแพร่และทำความเข้าใจแก่พนักงาน เพื่อให้มีการปฏิบัติโดยจัดทำจรรยาบรรณเกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชั่น คู่มือปฎิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อใช้อบรม ปฏิบัติ และให้พนักงานเรียนรู้ต่อไป นอกจากนี้ บริษัทให้ความคุ้มครองพนักงานที่แจ้งเหตุหรือเบาะแสการคอร์รัปชั่นภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ผู้กระทำการคอร์รัปชั่นถือเป็นผู้กระทำผิดวินัย อันจะถูกลงโทษทางวินัยตามข้อบังคับของบริษัท และอาจถูกดำเนินการตามกฎหมายด้วย
       ทั้งนี้ บริษัทดำเนินการปรับปรุงเอกสารและกระบวนการต่างๆ ให้สอดคล้องกับคำประกาศเจตนารมณ์ และหลักเกณฑ์ของแบบประเมินตนเองเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่น และจัดส่งให้คณะกรรมการแนวร่วมปฎิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตเพื่อขอรับรองต่อไป โดยบริษัทได้ยื่นขอรับรองแล้วในไตรมาสสุดท้ายของปี 2559

นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น 

ก.ย.
09

คณะกรรมการบริษัท

 

ชื่อ ตำแหน่ง
นายชัยศิลป์ แต้มศิริชัย ประธานกรรมการ
นายประสงค์ ศรีธรรัตน์กุล รองประธานกรรมการ
นายพรศิลป์ แต้มศิริชัย กรรมการ
นายพิชัย นิธิวาสิน กรรมการอิสระ
นายธนา เสนาวัฒนกุล กรรมการ
นายพฤทธิ์ สรญาณธนาวุธ กรรมการ
นายชาญเดช แต้มศิริขัย กรรมการ
นางสาวปิยะนุช แต้มศิริชัย กรรมการ
นางสาวปิยพร ศรีธรรัตน์กุล กรรมการ
นางสาวปรางทิพย์ ศิวรักษ์ กรรมการ
นายเกรียงไกร บุญกิตติเจริญ กรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ
พลเอก วาภิรมย์ มนัสรังษี กรรมการอิสระ ประธานกรรมการตรวจสอบ
นายชยกร ลิมป์ศิริพันธ์ กรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ
นายการุณ กิตติสถาพร กรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ
ก.ย.
09

ข้อมูลบริษัท

 

  บริษัท

บริษัท สหมิตรเครื่องกล จำกัด (มหาชน)

  วันที่ก่อตั้งบริษัท

วันที่ 7 มิถุนายน 2516

  ที่ตั้งสำนักงานใหญ่

42, 48 ถนนพระราม 3 ซอย 53 แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร 10120

  โทรศัพท์

66(0) 2295 1000-8 , 66(0) 2295 1901-8 

  โทรสาร

66(0) 2295 1009 , 66(0) 2683 0943 , 66(0) 2683 0944

  ที่ตั้งคลังสินค้า

152, 155 หมู่ 14 ถนนสุขุมวิทสายเก่า ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา 24130

  โทรศัพท์

66(0) 38-080-400  (อัตโนมัติ 20 คู่สาย) , 66(0) 38-080-411  (อัตโนมัติ 20 คู่สาย)

  โทรสาร

66(0) 38-080-409 , 66(0) 38-080-419 , 66(0) 38-080-429

  ทุนจดทะเบียน

550 ล้านบาท 

  ทุนจดทะเบียนชำระแล้ว

530 ล้านบาท

  เว็บไซต์

www.sahamit.co.th

  เว็บไซต์ โรงชุบ 

www.smitheattreatment.com

Our Company

โทรศัพท์ : 66(0) 2295-1000-8,66(0) 2295-1901-6
แฟกซ์ : 66(0) 2295 1009 , 66(0) 2683 0943 , 66(0) 2683 0944
ที่อยู่ : 42, 48 ถนน พระราม 3, ซอย 53, ยานนาวา, กรุงเทพ 10120
โทรศัพท์ : 66(0) 38-080-400 , 66(0) 38-080-411
แฟกซ์ : 66(0) 38-080-409 , 66(0) 38-080-419 , 66(0) 38-080-429
ที่อยู่ : 155 หมู่ 14 ถนน สุขุมวิท, บางปะกง, ฉะเชิงเทรา 24130

Visit Us