สิทธิของผู้ถือหุ้นและการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน
- บริษัทมีการให้ข้อมูล วัน เวลา สถานที่ และวาระการประชุม ตลอดจนข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องตัดสินใจในที่ประชุมแก่ ผู้ถือหุ้นเป็นการล่วงหน้า โดยได้ส่งหนังสือนัดเชิญประชุม และเอกสารประกอบ ให้ผู้ถือหุ้นได้พิจารณาเป็นการล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน และในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 บริษัทมีการเผยแพร่ข้อมูลประกอบการประชุมล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์ของบริษัท โดยข้อมูลจะเหมือนกับข้อมูลที่บริษัทจะจัดส่งให้ผู้ถือหุ้นในรูปแบบเอกสารหนังสือเชิญประชุมไว้ในเว็บไซต์ของบริษัท เพื่อเปิดโอกาส ให้ผู้ถือหุ้นได้มีเวลาศึกษาข้อมูลก่อนได้รับข้อมูลในรูปแบบเอกสาร
- ผู้ถือหุ้นสามารถดาวน์โหลดข้อมูลต่างๆ ของบริษัทได้ที่ www.sahamit.co.th ซึ่งจะมีข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลของบริษัทต่างๆ รวมถึง ข้อมูล ของการประชุม ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้ผู้ถือหุ้นและผู้ที่สนใจศึกษาสารสนเทศของบริษัทได้ อีกทั้งยังสามารถสอบถามข้อมูล เพิ่มเติมได้ผ่านแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ทาง Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
- ในหนังสือเชิญประชุม บริษัทแจ้งกฎเกณฑ์และวิธีการในการเข้าร่วมประชุมให้ผู้ถือหุ้นทราบ และในกรณีที่ผู้ถือหุ้นไม่สามารถเข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง บริษัทเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะให้กรรมการอิสระ กรรมการบริษัท หรือบุคคลใดๆ เข้าร่วมประชุมแทนตนได้โดยใช้หนังสือมอบฉันทะที่ได้จัดส่งไปพร้อมกับหนังสือนัดประชุม และผู้ถือหุ้นยังสามารถดาวน์โหลดหนังสือมอบฉันทะผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้ให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นที่เข้าประชุมภายหลังจากได้เริ่มประชุมแล้ว มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนสำหรับวาระที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาและยังไม่ได้มีการลงมติ และนับเป็นองค์ประชุมตั้งแต่วาระที่ได้เข้าประชุมและออกเสียงเป็นต้นไป เว้นแต่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นจะมีความเห็นเป็นอย่างอื่น
- บริษัทจัดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2561 โดยมีกรรมการบริษัท13 คนเข้าร่วมประชุม (กรรมการทั้งหมดมีจำนวน 15) มีการเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นซักถามข้อสงสัยต่างๆ จากกรรมการบริษัท ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายที่จะไม่มีการริดรอนสิทธิของผู้ถือหุ้นในการรับรู้สารสนเทศของบริษัท เช่น ไม่มีการแจกเอกสารที่มีข้อมูลสำคัญ เพิ่มเติมอย่าง กะทันหัน ไม่เพิ่มวาระการประชุมหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลสำคัญ ไม่จำกัดสิทธิในการเข้าประชุมของผู้ถือหุ้นที่มาสาย เป็นต้น
- บริษัทเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถเสนอวาระการประชุมเป็นการล่วงหน้า พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เช่น ต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่า 500,000 หุ้น และต้องถือหุ้นต่อเนื่องมาเป็นเวลา 1 ปี และต้องมีรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทอยู่ในวันที่เสนอวาระการประชุม โดยคณะกรรมการบริษัทจะเป็นผู้พิจารณากลั่นกรองข้อเสนอของผู้ถือหุ้น วาระใดที่เห็นว่าสำคัญและเป็นประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นโดยรวม คณะกรรมการบริษัทจะบรรจุเป็นวาระการประชุม โดยจะแจ้งในหนังสือนัดประชุมว่าเป็นวาระที่กำหนดโดยผู้ถือหุ้น หรือนำไปชี้แจงในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ซึ่งในปี 2561 ไม่มีผู้ใดเสนอวาระการประชุมเป็นการเพิ่มเติม นอกจากนี้ ในปี 2562 บริษัทเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเสนอวาระการประชุมและเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการล่วงหน้า และส่งคำถามที่เกี่ยวข้องกับวาระการประชุมถึงคณะกรรมการล่วงหน้าก่อนวันประชุม ผ่านทาง This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. อีกด้วย
- ในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 ประธานกรรมการได้แจ้งกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการประชุม วิธีการออกเสียงลงมติให้ผู้ถือหุ้นทราบ และมีการเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นแสดงความคิดเห็นและซักถามได้ซึ่งมีผู้สนใจซักถามเรื่องเกี่ยวกับงบการเงินและการดำเนินงานของบริษัท ส่วนในวาระแต่งตั้งกรรมการ คณะกรรมการได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเลือกกรรมการเป็นรายคน มีการใช้บัตรลงคะแนนให้ผู้ถือหุ้น กรอกในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับวาระ และมีการถ่ายวีดิทัศน์บันทึกภาพและเสียงการประชุม
- รายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 มีการแสดงรายชื่อกรรมการที่เข้า / ไม่เข้าร่วมประชุม ซึ่งมีกรรมการเข้าร่วมประชุมครบ มีคำชี้แจงที่เป็นสาระสำคัญ มีคำถามและคำตอบหรือข้อคิดเห็นโดยสรุป วิธีลงคะแนนและวิธีนับคะแนน และแสดงมติที่ประชุมที่เป็นคะแนนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียง ของทุกวาระการประชุมและเผยแพร่รายงานการประชุมผ่านทางเว็บไซต์ภายใน 14 วัน
- บริษัทมีมาตรการป้องกันกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานใช้ข้อมูลภายในเพื่อหาผลประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นในทางมิชอบ (แสดง รายละเอียดในหัวข้อ เรื่องการดูแลเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน)
- บริษัทกำหนดเกณฑ์ข้อบังคับของบริษัทว่ากรรมการบริษัทจะประกอบกิจการ หรือเข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญหรือหุ้นส่วน ไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเป็นกรรมการของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดอื่นที่ประกอบกิจการอันมีสภาพ อย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของบริษัทไม่ได้ เว้นแต่จะแจ้งให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นทราบก่อนที่จะมีมติแต่งตั้ง และ กรรมการต้องแจ้งให้บริษัททราบโดยไม่ชักช้าหากมีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในสัญญาใดๆ ที่บริษัททำขึ้นในระหว่างรอบปีบัญชี โดยบริษัทส่งเสริมให้มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนได้เสียของกรรมการ ผู้บริหาร และผู้เกี่ยวข้องต่อคณะกรรมการ ผ่านวาระการประชุมของคณะกรรมการบริษัท นอกจากนี้ในกรณีที่มีการพิจารณาวาระที่มีส่วนได้เสียของกรรมการอยู่ กรรมการหรือผู้บริหารที่มีส่วนได้เสียหรือมีส่วนเกี่ยวข้องไม่มีสิทธิในการออกเสียงในวาระดังกล่าว
บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย คณะกรรมการบริษัทได้ดำเนินนโยบายและกำกับดูแลธุรกิจของบริษัท ด้วยความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายเพื่อประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยมีคู่มือจริยธรรมธุรกิจของบริษัท ที่ใช้เป็นหลักในการปฏิบัติงาน ซึ่งประกอบด้วยนโยบายและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับจริยธรรมในการทำธุรกิจเพื่อให้เกิดความเข้าใจและยึดถือในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อความสำเร็จของบริษัท โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบใน 4 ประเด็นหลัก ดังนี้คือ การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน มาตรฐานการจ้างงาน การรักษาสิ่งแวดล้อม และการต่อต้านคอรัปชั่น
สิทธิของผู้ถือหุ้น :ตามที่ได้กล่าวไว้ในหัวข้อ “สิทธิของผู้ถือหุ้นและการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน”
สิทธิของพนักงาน :พนักงานเป็นปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จของการบรรลุเป้าหมายของบริษัท จึงเป็นนโยบายของบริษัทที่จะให้การปฎิบัติที่เป็นธรรมในด้านโอกาส ผลตอบแทน การแต่งตั้ง โยกย้าย ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพ โดยยึดแนวปฏิบัติ ดังนี้
- ปฏิบัติต่อพนักงานด้วยความสุภาพ และให้ความเคารพต่อความเป็นปัจเจกชนและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ โดยไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้หนึ่งผู้ใดเนื่องจากความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ เพศ อายุ หรือพื้นฐานการศึกษา
- ให้ผลตอบแทนที่เป็นธรรมต่อพนักงาน
- ดูแลรักษาสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของพนักงานอยู่เสมอ
- การประเมินผลงาน การแต่งตั้งและโยกย้าย รวมถึงการให้รางวัลและการลงโทษพนักงานกระทำด้วยความเป็นธรรม และสุจริตใจ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ ความสามารถ และ ความเหมาะสมของพนักงาน
- ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพของพนักงาน โดยการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ และทั่วถึง
- เปิดโอกาส และรับฟัง ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ของพนักงานตามความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพของพนักงาน
- ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพนักงานอย่างเคร่งครัด
- หลีกเลี่ยงการกระทำใด ๆ ที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงในหน้าที่การงานของพนักงาน หรือคุกคามและสร้างความกดดันต่อสภาพจิตใจของพนักงาน
นอกจากนี้ บริษัทมีนโยบายส่งเสริมการเสริมสร้างความรู้ ผ่านการอบรมทั้งภายในและภายนอกบริษัท เพื่อรองรับการเติบโตของบริษัทในอนาคต อีกทั้งบริษัทยังมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อสร้างหลักประกันให้แก่พนักงานภายในบริษัท
สิทธิของลูกค้า :บริษัทใช้ระบบการจัดการคุณภาพในระดับสากล เช่น ISO 9001:2008 และ AS9100C เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้าในด้านคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์สินค้า การส่งมอบที่ตรงเวลา และบริการในระดับโลก ตลอดจนรักษาความลับของลูกค้าโดยเคร่งครัด และกำหนดจรรยาบรรณทางธุรกิจให้สอดคล้องกัน ภายใต้ความรับผิดชอบและความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาว โดยกำหนดเป็นนโยบายและข้อปฏิบัติ ดังนี้
- รักษาคุณภาพของสินค้า และการให้บริการที่มีคุณภาพ ตรงตาม หรือสูงกว่าความคาดหวังของลูกค้าในราคาที่เหมาะสม
- ให้คำปรึกษา แนะนำ รวมทั้งช่วยลูกค้าในการแก้ปัญหา เพื่อให้การใช้สินค้า หรือ บริการของบริษัทฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์กับลูกค้าสูงสุด โดยยึดถือเสมอว่า ลูกค้าเป็นหุ้นส่วนทางการค้าของบริษัทฯ
- ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าของบริษัทฯอย่างถูกต้อง, เพียงพอ และทันต่อเหตุการณ์แก่ลูกค้า ตามความเป็นจริง ทั้งในแง่ของคุณภาพ ปริมาณ หรือเงื่อนไขใดๆ ของสินค้า หรือ บริการนั้น ๆ
- ติดต่อกับลูกค้าด้วยความสุภาพ และเป็นที่วางใจได้ของลูกค้า และจัดให้มีระบบและกระบวนการที่ให้ลูกค้าร้องเรียนเกี่ยวกับคุณภาพ ปริมาณ ความปลอดภัยของสินค้าและบริการ
- รักษาความลับ หรือ สารสนเทศของลูกค้า และไม่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือ ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยมิชอบ
สิทธิของคู่ค้า :การปฏิบัติต่อคู่ค้าของบริษัท ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคและเป็นธรรม โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ การเจรจาแก้ปัญหาและหาทางออกตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ทางธุรกิจ โดยมีแนวปฏิบัติดังต่อไปนี้
- ไม่เรียก หรือไม่รับ หรือจ่ายผลประโยชน์ใด ๆ ที่ไม่สุจริตในการค้ากับคู่ค้า หากพบว่ามี หรือ อาจจะมีการกระทำในลักษณะดังกล่าว ต้องเปิดเผยรายละเอียดต่อคู่ค้า และร่วมแก้ปัญหาโดยยุติธรรม และรวดเร็ว
- ปฏิบัติตามเงื่อนไขทางการค้า, เงื่อนไขการกู้ยืมเงิน หรือ เงื่อนไขอื่นๆ ตามที่ตกลงกันไว้อย่างเคร่งครัด
- กรณีไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้ ต้องรีบแจ้งล่วงหน้าเพื่อร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไข
สิทธิของเจ้าหนี้ :บริษัทมุ่งมันสร้างความไว้วางใจกับเจ้าหนี้ด้วยการบริหารงานอย่างมีจรรยาบรรณ และปฏิบัติตามเงื่อนไขการกู้ยืมเงิน ข้อตกลงและหน้าที่ที่พึงมีต่อเจ้าหนี้
สิทธิของสังคมและส่วนรวม :บริษัทดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่พึงมีต่อประเทศชาติ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น และยึดมั่นเป็นนโยบายที่จะดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยจากกิจกรรมของบริษัท ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมที่ดี และปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดโดยมีแนวปฏิบัติดังนี้
- ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม
- สร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน และการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของพนักงานอยู่เสมอ
- เอาใจใส่ และให้ความร่วมมือต่อกิจกรรมทั้งปวงที่จะเสริมสร้างคุณภาพ อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม
บริษัทมีแนวทางในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม ตามหลักบรรษัทภิบาลที่ดี ยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยบริษัทได้จัดทำนโยบายการแจ้งเบาะแส (Whistle Blowing Policy) ขึ้น เพื่อเป็นช่องทางให้กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มสามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสในกรณีที่เกิดการทุจริต ฉ้อโกงในสาระที่สำคัญ และกระทบต่อความรู้สึก เช่น การกระทำที่ผิดกฎหมาย ผิดกฎข้อบังคับ ผิดไปจากนโยบายของบริษัท และผิดต่อจริยธรรมทางธุรกิจ เพื่อช่วยกันปรับปรุงแก้ไขหรือดำเนินการให้เกิดความถูกต้อง เหมาะสม โปร่งใส และยุติธรรมต่อไป ทั้งนี้ ข้อมูลขอผู้แจ้งเบาะแสและเรื่องที่แจ้ง จะถูกเก็บเป็นความลับ เพื่อป้องกันกรณีถูกละเมิดสิทธิ บริษัทจัดช่องทางติดต่อกับบริษัทได้ โดยผ่านกรรมการตรวจสอบของบริษัท ทาง Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. หรือทางโทรสารไปยังฝ่ายตรวจสอบภายในที่หมายเลข (0) 2295 1020 ในปีที่ผ่านมา บริษัทไม่ได้รับแจ้งเบาะแส การกระทำความผิดแต่อย่างใด ทั้งนี้ บริษัทได้กำหนดรายละเอียดเหล่านี้ไว้ในนโยบายกำรกำกับดูแลกิจการว่าด้วยการให้ข้อมูลการกระทำผิดและ การทุจริตและจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ
การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส บริษัทได้คำนึงถึงการได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา โปร่งใส การเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เท่าเทียมกันและความน่าเชื่อถือ โดยบริษัท ได้ดำเนินการ
- เปิดเผยข้อมูลแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และรายงานประจำปีให้ผู้ลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลของบริษัทเพิ่มเติมได้จาก www.sec.or.th หรือ เว็บไซต์ของบริษัท www.sahamit.co.th
- ในรอบปีที่ผ่านมา บริษัทมิได้ถูกสำนักงาน ก.ล.ต. หรือตลาดหลักทรัพย์ฯ ดำเนินการเนื่องมาจากการเปิดเผยข้อมูลไม่เป็นไปตามข้อกำหนด
- ในรายงานประจำปี 2561 บริษัทเปิดเผยข้อมูลอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ และคณะกรรมการตรวจสอบ นโยบาย การจ่ายค่าตอบแทนกรรมการ นโยบายการกำกับดูแลโดยสรุป นโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสังคม การปฏิบัติตาม นโยบายที่กำหนด และจรรยาบรรณธุรกิจ
- จัดให้มีรายงานความรับผิดชอบของคณะกรรมการต่อรายงานทางการเงินแสดงควบคู่ไปกับรายงานของผู้สอบบัญชีในรายงานประจำปี ซึ่งมีเนื้อหารับรองการปฏิบัติตามหลักการบัญชี และมีการรายงานทางการเงินที่มีข้อมูลถูกต้องครบถ้วนเป็นจริงตามมาตรฐานการบัญชี โดยรายงานดังกล่าวลงนามโดยประธานกรรมการ
- ข้อมูลในเว็บไซต์ของบริษัทประกอบด้วย ข้อมูลองค์กร โครงสร้างการถือหุ้น โครงสร้างคณะกรรมการ วิสัยทัศน์ / ภารกิจธุรกิจ และ ผลิตภัณฑ์ นโยบายการกำกับดูแลกิจการและผลการปฏิบัติตามนโยบายที่กำหนด จรรยาบรรณธุรกิจ ข้อมูลนักลงทุน รายงานประจำปี งบการเงิน และข่าวสารที่บริษัทเผยแพร่ โดยมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
- บริษัทตระหนักถึงความสำคัญในการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศแก่ผู้ลงทุนเพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง โปร่งใสและทั่วถึง บริษัทจึงจัดให้มีแผนกนักลงทุนสัมพันธ์เพื่อรับผิดชอบติดต่อประสานงานกับผู้ลงทุนและผู้ถือหุ้น โดยสามารถติดต่อได้ที่ Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. หรือ ติดต่อที่ คุณปรางทิพย์ ศิวรักษ์ โทรศัพท์ 66 (0) 2295 1000-8 ต่อ 1515
ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
- โครงสร้างของคณะกรรมการบริษัท ประกอบด้วยกรรมการทั้งสิ้น 15 คน ซึ่งเป็นโครงสร้างกรรมการที่เหมาะสมกับขนาดของกิจการ ในคณะกรรมการบริษัทมีกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบจำนวน 5 คน หรือคิด 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด ทำให้สามารถถ่วงดุลในการพิจารณาวาระการประชุมต่างๆ ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทประกอบด้วยบุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถหลากหลายด้าน เช่น ความรู้ความเชี่ยวชาญ เรื่องบัญชี การเงิน การปกครอง การค้าระหว่างประเทศ การผลิต การจัดซื้อ และตรวจสอบภายใน เป็นต้น รายละเอียดประวัติ คุณวุฒิ ประสบการณ์ การถือหุ้น แสดงในข้อมูลเอกสาร 56-1
- บริษัทมีบุคคลที่ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ซึ่งไม่เป็นบุคคลเดียวกับกรรมการผู้จัดการ โดยมีการระบุและแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการ กับกรรมการผู้จัดการไว้อย่างชัดเจน และบริษัทยังมีคณะกรรมการบริหารซึ่งประกอบด้วยกรรมการ 7 ท่าน ซึ่งมีการถ่วงดุลกันอย่างเหมาะสมจากตัวแทนผู้ถือหุ้นกลุ่มอื่น นอกจากนั้นการตัดสินใจและทำรายการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจทั่วไปของบริษัทนั้นจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริษัท ซึ่งมีกรรมการตรวจสอบจำนวน 4 ท่านเข้าร่วมพิจารณาด้วย
- คณะกรรมการตรวจสอบ ประกอบด้วยกรรมการบริษัทที่เป็นกรรมการอิสระ จำนวน 4 คน เป็นผู้มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรรมการตรวจสอบ 1 คน คือ นายประยูร วิเวชภูวนนท์ เป็นผู้มีความรู้ ความเข้าใจ มีประสบการณ์ด้านบัญชีและการเงิน และงานตรวจสอบภายในเป็นอย่างดี ในปี 2561 คณะกรรมการตรวจสอบมีการประชุม 5 ครั้ง มีการรายงานผลการปฏิบัติหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการรายงานการทำหน้าที่ในรอบปีที่ผ่านมา
- คณะกรรมการบริษัทมิได้จัดให้มีกรรมการย่อย คือ คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง เนื่องจากคณะกรรมการบริษัทพิจารณาแล้วเห็นว่า ด้วยขนาดกิจการและโครงสร้างองค์กรในปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการย่อยดังกล่าว อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริษัท (ประกอบด้วยกรรมการอิสระจำนวน 5 คน หรือ คิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด) ได้ทำหน้าที่ในกำหนดค่าตอบแทนที่เหมาะสมแก่กรรมการบริษัทและผู้บริหารอย่างชัดเจนและโปร่งใส โดยจะพิจารณาเปรียบเทียบกับการจ่ายค่าตอบแทนของกรรมการกับบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน ตลอดจนผลการดำเนินงานของบริษัท และมีการเสนอขออนุมัติที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อจ่ายค่าตอบแทนให้แก่คณะกรรมการบริษัท ส่วนค่าตอบแทนผู้บริหาร คณะกรรมการบริหารเป็นผู้พิจารณาจากหน้าที่ความรับผิดชอบ ความรู้ ความสามารถ และผลการปฏิบัติงานของแต่ละคน ซึ่งวิธีการจ่ายค่าตอบแทนที่บริษัทปฏิบัติอยู่นี้สอดคล้องกับผลการปฏิบัติงานของพนักงาน และสะท้อนถึงผลการดำเนินงานอย่างแท้จริง ส่วนการบริหารความเสี่ยงคณะกรรมการบริษัท (ประกอบด้วยกรรมการอิสระจำนวน 5 คน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด) ได้ทำหน้าที่ประเมินและติดตามความเสี่ยงโดยรวมซึ่งครอบคลุมความเสี่ยงที่สำคัญของบริษัท เช่น ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้า ความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงจากลูกหนี้การค้า เป็นต้น พร้อมทั้งกำหนดนโยบายและกลยุทธ์บริหารความเสี่ยงเพื่อดูแลปริมาณความเสี่ยงของบริษัทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
- ตามข้อบังคับของบริษัท การประชุมสามัญประจำปีทุกครั้ง กรรมการบริษัทอย่างน้อย 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมดต้องออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท โดยให้กรรมการที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดเป็นผู้ออกจากตำแหน่ง และกรรมการอาจได้รับการแต่งตั้งกลับมาดำรงตำแหน่งได้อีกตามที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นเห็นว่าเหมาะสม ดังนั้น วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการจะอยู่ที่ประมาณ 3 ปี
- คณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำรงตำแหน่งกรรมการที่บริษัทอื่นของกรรมการ ตามระเบียบข้อบังคับของบริษัทที่ว่ากรรมการบริษัทจะประกอบกิจการ หรือเข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญหรือหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเป็นกรรมการ ของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดอื่นที่ประกอบกิจการอันมีสภาพอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของบริษัทไม่ได้ เว้นแต่จะแจ้งให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นทราบก่อนที่จะมีมติแต่งตั้ง โดยนโยบายดังกล่าว ทางคณะกรรมการได้กำหนดให้ใช้กับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทด้วย นอกจากนี้ การดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดให้กรรมการแต่ละคนดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 5 แห่ง ซึ่งปัจจุบันไม่มีกรรมการคนใดของบริษัทมีการดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทจดทะเบียนมากกว่า 5 บริษัท
- บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เป็นการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการบริหาร กรรมการผู้จัดการ ไว้อย่างชัดเจน
- บริษัทได้กำหนด วิสัยทัศน์ ภารกิจ กลยุทธ์ เป้าหมาย แผนธุรกิจและงบประมาณของบริษัท ตลอดจนกำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนธุรกิจและงบประมาณที่กำหนดไว้ รวมทั้งจัดให้มีระบบการควบคุมภายใน การตรวจสอบภายในและการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
- คณะกรรมการบริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการนำมาซึ่งความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้น และเกิดความเป็นธรรมแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย โดยคณะกรรมการบริษัทได้ประกาศใช้คู่มือบรรษัทภิบาลเพื่อเป็นคู่มือในการกำกับดูแลกิจการของบริษัทให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ข้างต้น และมีการสื่อสาร ส่งเสริมให้บุคลากรของบริษัทเข้าใจและปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว
- คณะกรรมการบริษัทได้ให้ความเห็นชอบในคู่มือจริยธรรมธุรกิจและข้อพึงปฏิบัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรแก่กรรมการและพนักงาน เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ ซึ่งครอบคลุมหัวข้อต่างๆ ที่สำคัญ เช่น ความซื่อสัตย์ คุณธรรม ความขัดแย้งทางผลประโยชน์และการปฏิบัติ ตามข้อกฎหมายต่างๆ รวมทั้งยังได้มีบทกำหนดโทษทางวินัยอีกด้วย โดยในแต่ละปีสายงานตรวจสอบภายในและทรัพยากรบุคคล จะประเมินเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข
- การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ คณะกรรมการได้ดูแลอย่างรอบคอบเมื่อเกิดรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการตรวจสอบ ในหัวข้อที่เป็นรายการระหว่างกัน ตามข้อกำหนด และวิธีการของตลาดหลักทรัพย์ ในเรื่องที่เกี่ยวกับรายการที่เกี่ยวข้องกัน นอกจากนี้ยังมีการกำหนดไม่ให้ผู้มีส่วนได้เสียในรายการที่จะทำไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และมีการเปิดเผยข้อมูลถูกต้องและครบถ้วนในรายงานประจำปีและแบบ 56-1
- บริษัทมีหน่วยงานตรวจสอบภายในเพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์ ตรวจสอบประเมินผลให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจการต่างๆ ของบริษัทและมี คณะกรรมการตรวจสอบเพื่อทำหน้าที่สอบทานให้บริษัท มีระบบการควบคุมภายใน (Internal Control) และการตรวจสอบภายใน (Internal Audit) ที่เหมาะสมและมีประสิทธิผล หน่วยงานดังกล่าวมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ขึ้นตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ มีการทบทวนความเหมาะสมและความเพียงพอของระบบปีละ 1 ครั้ง และคณะกรรมการตรวจสอบมีการให้ความเห็นเรื่องความเพียงพอของระบบควบคุมภายในไว้ในรายงานประจำปี
- การประชุมคณะกรรมการ บริษัทได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการและมีการกำหนดตารางการประชุมไว้ล่วงหน้าตลอดทั้งปี และแจ้งให้คณะกรรมการทราบตั้งแต่ต้นปีเพื่อวางแผนเข้าร่วมประชุม ซึ่งจะกำหนดให้มีการประชุม อย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง (ในทุกๆ 3 เดือน) และมีการประชุมอีก 1 ครั้ง 1 เดือนก่อนวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี โดยกรรมการทุกคนควรเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการอย่างน้อยร้อยละ 75 ของการประชุมทั้งปี นอกจากนั้นหากมีวาระที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ บริษัทจะจัดให้มีการประชุมระหว่างกาลอย่างเร่งด่วนตามความเหมาะสม ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ และเลขานุการบริษัท ร่วมกันพิจารณาการเลือกเรื่องเข้าวาระการประชุมคณะกรรมการ โดยดูให้แน่ใจว่าเรื่องที่สำคัญได้นำเข้ารวมไว้แล้ว และกรรมการแต่ละคนมีความเป็นอิสระที่จะเสนอเรื่องเข้าสู่วาระการประชุม เลขานุการบริษัทมีการจัดส่งเอกสารประกอบการประชุมให้แก่กรรมการเป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน ประธานกรรมการจัดสรรเวลาไว้อย่างเพียงพอที่ฝ่ายจัดการจะเสนอเรื่องและมากพอที่กรรมการจะอภิปรายปัญหา
- รายงานการประชุมของคณะกรรมการบริษัท จะประกอบด้วยสาระสำคัญ เช่น วันเวลาเริ่ม เวลาเลิกประชุม รายชื่อกรรมการที่เข้าประชุมและขาดประชุม สรุปสาระสำคัญของเรื่องที่เสนอ สรุปประเด็นการอภิปรายและข้อสังเกต มติคณะกรรมการและความเห็นของกรรมการที่ไม่เห็นด้วย ชื่อผู้จดรายงานและชื่อผู้รับรองรายงาน บริษัทได้มีการจัดเก็บรายงานการประชุมของคณะกรรมการบริษัทเป็นรูปเล่ม สามารถสืบค้นง่ายแต่แก้ไขไม่ได้ มีการบันทึกและเปิดเผยจำนวนครั้งการเข้าประชุมคณะกรรมการ
- คณะกรรมการได้มีมติแต่งตั้ง นางสาวณัฐพร แต้มศิริชัย เป็นเลขานุการบริษัท เพื่อทำหน้าที่จัดการประชุมคณะกรรมการบริษัทคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ และการประชุมผู้ถือหุ้น รวมทั้งจัดทำรายงานการประชุมคณะกรรมการ รายงานการประชุมผู้ถือหุ้น รายงานประจำปี ตลอดจนจัดเก็บเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด
การกำกับดูแลเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน บริษัทมีนโยบายห้ามกรรมการและผู้บริหารใช้ข้อมูลภายในที่มีสาระสำคัญของบริษัท ซึ่งยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนเพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือผู้อื่น รวมถึงการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท โดยมีวิธีการดูแลผู้บริหารในการนำข้อมูลภายในของบริษัทไปใช้ประโยชน์เพื่อส่วนตนหรือ ผู้อื่น ดังนี้
- ดำเนินการแจ้งให้ผู้บริหารฝ่ายต่างๆ เข้าใจถึงภาระหน้าที่ในการรายงานการถือหลักทรัพย์ในบริษัทของตนเอง คู่สมรส และบุตรที่ยัง ไม่บรรลุนิติภาวะ ตลอดจนรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ตามมาตรา 59 และบทกำหนดโทษตามมาตรา 275 แห่ง พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
- ดำเนินการส่งหนังสือเวียนแจ้งให้ผู้บริหารทราบว่า ผู้บริหารที่รับทราบข้อมูลภายในที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์ ควรหลีกเลี่ยงหรืองดการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทในช่วงระยะเวลา 1 เดือน (ยกเว้นในกรณีจำเป็น) และห้ามเปิดเผยข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญนั้นต่อบุคคลอื่น ก่อนที่งบการเงินหรือข้อมูลภายในนั้นจะเปิดเผยต่อสาธารณชน
- ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ กรรมการบริษัทและผู้บริหารระดับสูงจะต้องแจ้งให้แก่คณะกรรมการทราบ ในวาระเรื่อง รายงานการถือหลักทรัพย์
- ข้อมูลภายในหรือเอกสารที่มีสาระสำคัญของบริษัท ทั้งในรูปแบบเอกสารและ Soft File จะถูกเก็บรักษาไว้ในที่รัดกุมและจำกัดให้รับรู้ ได้เฉพาะผู้บริหารระดับสูงตามความจำเป็นเท่านั้น โดยเฉพาะข้อมูลภายในที่เป็นความลับ ในกรณีที่จำเป็นต้องเปิดเผยต่อพนักงาน บริษัท บริษัทจะให้พนักงานทราบถึงข้อจำกัดในการนำข้อมูลไปใช้อย่างถูกต้อง ในกรณีที่พนักงานนำข้อมูลที่เป็นความลับของบริษัท ไปเปิดเผยต่อบุคคลภายนอก จะถือว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
- การติดตามผลการปฏิบัติงาน จะดำเนินการสุ่มตรวจกรณีที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ผิดปกติ รวมถึงการตรวจสอบผ่านระบบสารสนเทศ ของบริษัทและข่าวสารจากภายนอก
การควบคุมภายใน คณะกรรมการบริษัท ให้ความสำคัญต่อการควบคุมภายในอย่างต่อเนื่อง โดยจัดให้มีระบบควบคุมภายในที่มีประสิทธิผล ซึ่งเป็นกลไกที่สร้างความมั่นใจต่อฝ่ายบริหาร ในการช่วยลดความเสี่ยงทางธุรกิจ ช่วยให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสม บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ รวมถึงช่วยปกป้องทรัพย์สินไม่ให้รั่วไหล สูญหาย หรือจากการทุจริต ซึ่งจะส่งผลให้รายงานทางการเงินมีความครบถ้วน ถูกต้อง เชื่อถือได้ โดยมีหน่วยงานตรวจสอบภายใน ซึ่งมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการตรวจสอบ ทำหน้าที่สอบทานการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ ภายในบริษัท ตามแผนการตรวจสอบ ซึ่งใช้การประเมินความเสี่ยง เพื่อลำดับความสำคัญในจุดที่เข้าตรวจสอบ ควบคู่กับการให้คำปรึกษา และพัฒนาระบบการควบคุมภายในให้มีความรัดกุม และมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2561 ซึ่งมีคณะกรรมการตรวจสอบเข้าร่วมประชุมด้วย คณะกรรมการบริษัทได้ประเมินระบบการควบคุมภายในของบริษัท จากการสอบทานการประเมินความเพียงพอของระบบควบคุมภายใน ตามแนวทางที่กำหนดโดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และจากการซักถามข้อมูลจากฝ่ายบริหาร และฝ่ายตรวจสอบภายใน คณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัท มีความเห็นว่าบริษัทฯ มีการควบคุมภายในที่เหมาะสม รัดกุม และเพียงพอในทุกด้าน สอดคล้องกับความเห็นของผู้สอบบัญชี ที่ให้ความเห็นว่าไม่พบจุดอ่อน หรือข้อบกพร่องของระบบควบคุมภายใน ที่จะกระทบอย่างเป็นสาระสำคัญต่อความถูกต้องของงบการเงิน หรือการบรรลุเป้าหมายขององค์กร
การบริหารจัดการความเสี่ยง การบริหารความเสี่ยง ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการ และกำกับดูแลการดำเนินงานในกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัท ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล บรรลุตามวัตถุประสงค์ของบริษัท เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน การบริหารความเสี่ยง จึงเป็นความท้าทายของบริษัทที่จะต้องรักษาความสมดุลระหว่างความเสี่ยงและผลของความสำเร็จที่จะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่บริษัทโดยไม่ก่อให้เกิดภยันตราย ซึ่งหมายความว่า องค์กรต้องมีความเข้าใจถึงความเสี่ยงของธุรกิจตนเอง มีการกำหนดระดับความเสี่ยงที่บริษัทยอมรับได้ และต้องมีความมั่นใจว่าความเสี่ยงเหล่านั้นได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ดังนั้น คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง จึงจัดตั้งคณะทำงานบริหารความเสี่ยงในปี 2558 และได้จัดทำคู่มือบริหารความเสี่ยง แผนบริหารความเสี่ยง ที่ได้รวบรวมความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้น ผลกระทบ พร้อมทั้งระดับความเสี่ยงในขณะนั้น ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ รวมถึงการจัดการความเสี่ยงที่ฝ่ายบริหารใช้กำกับดูแลและประกอบการดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจในแต่ละด้าน เพื่อสื่อสารการบริหารความเสี่ยงกับทุกหน่วยงานให้รับทราบ และนำแผนไปปฏิบัติ รวมทั้งติดตามผล เพื่อปรับปรุงแผนบริหารความเสี่ยงให้เหมาะสม และสอดคล้องกับการดำเนินงานในทุกกิจกรรมของบริษัท ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงต้องประเมินผลการปฏิบัติงาน และรายงานผลการประเมินความเสี่ยงประจำปีต่อคณะกรรมการบริษัทรับทราบ เพื่อนำผลการประเมินความเสี่ยงประจำปีมาปรับปรุงกระบวนการบริหารความเสี่ยงให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ กระบวนการบริหารความเสี่ยง มีขั้นตอนดังนี้ 1. การกำหนดวัตถุประสงค์ เพื่อให้มีทิศทาง และเป้าหมายชัดเจน 2. การระบุความเสี่ยง ความเสี่ยงที่สำคัญของบริษัทแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ 2.1 ความเสี่ยงด้านการเงิน 2.2 ความเสี่ยงด้านปฏิบัติงาน 2.3 ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ ข้อบังคับ ของภาครัฐ 2.4 ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ 3. การวิเคราะห์ และประเมินความเสี่ยง การวิเคราะห์ความเสี่ยง เพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยง และสามารถตัดสินใจเลือกวิธีจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการวิเคราะห์เชิงปริมาณ หรือการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ (จากผู้ที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงโดยตรง) การประเมินความเสี่ยง คือการนำความเสี่ยงที่ถูกวิเคราะห์ ไปประเมินค่าความเสี่ยง โดยวัดจากโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงนั้น (Likelihood) เทียบกับผลกระทบจากความเสี่ยง (Impact) และเข้าสู่แนวทางการวางแผนบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม 4. การวางแผนบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อหาแนวทางจัดการความเสี่ยงที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงสำคัญๆ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นใหม่ได้ในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและเวลาที่เปลี่ยนไป 5. การติดตามและรายงานความเสี่ยง เป็นกระบวนการสุดท้ายเพื่อรายงานความเสี่ยงจากทุกหน่วยในองค์กรอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่อง เพื่อสอบทานสถานะของความเสี่ยง และแผนบริหารจัดการความเสี่ยง ว่าแผนใดมีประสิทธิภาพดีให้คงดำเนินการต่อ และแผนใดควรปรับเปลี่ยน เมื่อพบว่าระดับความเสี่ยงที่คงเหลือสูงเกินกว่าค่าระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เพื่อการตัดสินใจที่ทันเวลาและมีประสิทธิผล
|